RHYTHM จังหวะ
ความหมายและลักษณะของจังหวะ
จังหวะ(Rhythm) เป็นคุณสมบัติประการหนึ่งในหลักการออกแบบ(Principal of Design)ของศาสตร์ทางด้านศิลปะ Rhythm คือการเคลื่อนที่หรือการเคลื่อนไหวของท่วงทำนองทางสายตาที่เป็นไปโดยธรรมชาติ โดยคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มนุษย์เกิดการรับรู้ในเรื่องของจังหวะคงจะได้แก่คุณสมบัติด้านการการซ้ำ(repetitive)นั่นเองของ การที่ทำให้เกิดจังหวะในงานศิลปะคือการซ้ำกันของมูลฐานทัศนศิลป์(Visual Element)อันได้แก่ เส้น สี รูปร่าง-รูปทรง พื้นผิว น้ำหนัก และบริเวณว่างนั่นเอง เมื่อเรานำมูลฐานทัศนศิลป์เหล่านี้มาจัดวางให้เกิดการซ้ำหรือการสลับกันอย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดจังหวะ ซึ่งจะสร้างให้เกิดการเคลื่อนที่ของสายตา(Eye Movement) กลุ่ม element ที่มีความสัมพันธ์กัน/เชื่อมโยงกัน(Related)จะเป็นสาเหตุให้สายตามีการเคลื่อนที่(Flow)ติดตาม Element เหล่านั้นอย่างเป็นไปโดยธรรมชาติ จาก Element หนึ่งไปสู่ Element อันอื่นๆทีละอันๆทีละขั้นๆตามลักษณะที่ element ถูกจัดซึ่งจะทำให้เกิดจังหวะทางการเห็น
คุณสมบัติด้านจังหวะนี้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะแต่ในงานทัศนศิลป์อย่างเดียวเท่านั้น แต่คุณสมบัติด้านจังหวะยังมีปรากฏอยู่ในงานศิลปะ แขนงอื่นๆอีกด้วย เช่น ดนตรี กลอน และศิลปะการแสดงเป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานศิลปะประเภทดนตรี มนุษย์สามารถรับรู้ถึงจังหวะได้โดยไม่ต้องมีใครสอน เราจะสังเกตได้จากเด็กที่เริ่มพ้นวัยทารกแม้จะยังไม่รู้ความก็สามารถเต้นตามจังหวะเพลงที่มีจังหวะสนุกสนานเร้าใจได้ มีผู้กล่าวว่าจังหวะเป็นคำที่เกิดขึ้นในศาสตร์ทางด้านดนตรีและกวีนิพนธ์มาก่อน คุณสมบัติด้านจังหวะในงานประเภทดนตรีและกวีนิพนธ์ได้แก่ จังหวะของเสียงที่ สูง-ต่ำ หนัก-เบา เร็ว-ช้า นั่นเอง คำและดนตรีให้จังหวะของสัมผัสทางด้านเสียง การแต่งเพลงเป็นการควบคุมจังหวะการไหลอย่างต่อเนื่องของเสียงในกาลเวลา แต่ในงานออกแบบ/ทัศนศิลป์เป็นการซ้ำหรือการเคลื่อนไหลของรูปทรงในบริเวณว่าง เราพยายามที่จะใช้จังหวะของสัมผัสทางด้านการมองเห็นเพื่อเรียกร้องความสนใจของผู้รับ เนื่องจากงานออกแบบถือเป็นงานที่ต้องรับรู้โดยการมองหรือทัศนศิลป์นั่นเอง จังหวะสามารถก่อให้เกิดความรู้สึกต่างๆขึ้นในอารมณ์ของมนุษย์ จังหวะช้า-เร็วของดนตรีมีผลต่ออารมณ์มนุษย์เช่นดนตรีร็อค ดนตรีป๊อบ ดนตรีคลาสสิค ให้ความรู้สึกแก่ผู้ฟังที่แตกต่างต่างกันไป ทางด้านงานทัศนศิลป์ก็เช่นกัน การจัด element รูปแบบต่างๆอาจจะดึงดูดสายตาของผู้ดูให้ข้าม/กระโดดอย่างรวดเร็วหรือค่อยๆไล่ผ่านอย่างช้าๆนุ่มนวลจากสิ่งหนึ่งไปยังสิ่งที่อยู่ถัดไป สายตาของผู้ดูจะกระโดดอย่างรวดเร็วหากปะทะเข้ากับจังหวะของสีที่ฉูดฉาดที่ตัดกัน เส้นที่รวดเร็วตัดกันอย่างรุนแรง พื้นผิวที่หยาบ หรืออาจจะค่อยๆเคลื่อนที่อย่างช้าๆเมื่อพบกับการสลับกันของสีที่ทึบทึม เส้นที่อ่อนช้อย และพื้นผิวที่ราบเรียบนุ่มนวล อย่างแน่นอน
การนำจังหวะมาใช้ในงานออกแบบนั้นหากจังหวะมีการซ้ำกันอยู่เพียงรูปแบบเดียวอาจก่อให้เกิดความรู้สึกราบเรียบน่าเบื่อหน่ายแก่ผู้พบเห็นได้ ขอให้ท่านนึกถึงการเดินของเข็มนาฬิกาแต่ละวินาทีที่ต่อเนื่องกันไปหากดูหรือฟังไปนานๆอาจเกิดการเบื่อหน่ายแก่ผู้พบเห็นได้ หรือการตั้งเรียงกันของเสาไฟฟ้าแต่ละต้นๆซึ่งน้อยคนนักจะสามารถจ้องมองอยู่ได้นานๆโดยไม่เบื่อเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ในการออกแบบจึงจำเป็นจะต้องใช้ความรู้ทางด้านองค์ประกอบทางด้านทัศนศิลป์ตัวอื่นๆเข้ามาประกอบ อาจจะเป็นในลักษณะของการคั่น การสลับสับหว่าง หรือการเบรคความซ้ำหรือซ้ำซากนั่นลงเสียบ้างเพื่อไม่ให้เกิดความน่าเบื่อ การสลับสับหว่างนี้อาจเกิดขึ้นจากการเว้น “บริเวณว่าง” หรือช่องไฟ การสลับสี,น้ำหนัก การลดทอน/ลดหลั่นของรูปร่าง รูปทรง การเปลี่ยนทิศทางของวัตถุ หรือการใช้พื้นผิวที่แตกต่างสลับกันไป เป็นต้น
UNITY เอกภาพ
เอกภาพ หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์ประกอบศิลป์ทั้งด้านรูปลักษณะ
และด้านเนื้อหาเรื่องราว เป็นการประสานหรือจัดระเบียบของส่วนต่าง ๆ
ให้เกิดความเป็น หนึ่งเดียว เพื่อผลรวมอันไม่อาจแบ่งแยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป
การสร้างงานศิลปะ คือ การสร้างเอกภาพขึ้นจากความสับสน ความยุ่งเหยิง เป็นการจัดระเบียบ
และดุลยภาพ ให้แก่สิ่งที่ขัดแย้งกันเพื่อให้รวมตัวกันได้ โดยการเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆให้สัมพันธ์กัน
เอกภาพของงานศิลปะ มีอยู่ 2 ประการ คือ
1. เอกภาพของการแสดงออก หมายถึง การแสดงออกทีมีจุดมุ่งหมายเดียว แน่นอน และมี
ความเรียบง่าย งานชิ้นเดียวจะแสดงออกหลายความคิด หลายอารมณ์ไม่ได้ จะทำให้สับสน
ขาดเอกภาพ และการแสดงออกด้วยลักษณะเฉพาตัวของศิลปินแต่ละคน ก็สามารถทำให้
เกิดเอกภาพแก่ผลงานได้
2. เอกภาพของรูปทรง คือ การรวมตัวกันอย่างมีดุลยภาพ และมีระเบียบขององค์ประกอบ
ทางศิลปะ เพื่อให้เกิดเป็นรูปทรงหนึ่ง ที่สามารถแสดงความคิดเห็นหรืออารมณ์ของศิลปิน
ออกได้อย่างชัดเจน เอกภาพของรูปทรง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อความงามของผลงานศิลปะ
เพราะเป็นสิ่งที่ศิลปินใช้เป็นสื่อในการแสดงออกถึงเรื่องราว ความคิด และอารมณ์ ดังนั้น
กฎเกณฑ์ในการสร้างเอกภาพในงานศิลปะเป็นกฎเกณฑ์เดียวกันกับธรรมชาติ
BALANCE ความสมดุล
ความสมดุล หรือ ดุลยภาพ หมายถึง น้ำหนักที่เท่ากันขององค์ประกอบ ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
ในทางศิลปะยังรวมถึงความประสานกลมกลืน ความพอเหมาะพอดีของ ส่วนต่าง ๆ
ในรูปทรงหนึ่ง หรืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง การจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ลงใน งานศิลปกรรมนั้น
จะต้องคำนึงถึงจุดศูนย์ถ่วง ในธรรมชาตินั้น ทุกสิ่งสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ล้มเพราะมีน้ำหนักเฉลี่ยเท่ากันทุกด้าน
ฉะนั้น ในงานศิลปะถ้ามองดูแล้วรู้สึกว่าบางส่วนหนักไป แน่นไป หรือ เบา บางไป
ก็จะทำให้ภาพนั้นดูเอนเอียง และเกิดความ รู้สึกไม่สมดุล เป็นการบกพร่องทางความงาม
ดุลยภาพในงานศิลปะ มี 2 ลักษณะ คือ
1. ดุลยภาพแบบสมมาตร (Symmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาเหมือนกัน
คือ การวางรูปทั้งสองข้างของแกนสมดุล เป็นการสมดุลแบบธรรมชาติลักษณะแบบนี้ใน
ทางศิลปะมีใช้น้อย ส่วนมากจะใช้ในลวดลายตกแต่ง ในงานสถาปัตยกรรมบางแบบ หรือ
ในงานที่ต้องการดุลยภาพที่นิ่งและมั่นคงจริง ๆ
2. ดุลยภาพแบบอสมมาตร (Asymmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาไม่เหมือน
กัน มักเป็นการสมดุลที่เกิดจาการจัดใหม่ของมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะที่ทางซ้ายและขวาจะไม่
เหมือนกัน ใช้องค์ประกอบที่ไม่เหมือนกัน แต่มีความสมดุลกัน อาจเป็นความสมดุลด้วย
น้ำหนักขององค์ประกอบ หรือสมดุลด้วยความรู้สึกก็ได้ การจัดองค์ประกอบให้เกิดความ
สมดุลแบบอสมมาตรอาจทำได้โดย เลื่อนแกนสมดุลไปทางด้านที่มีน้ำหนักมากว่า หรือ
เลื่อนรูปที่มีน้ำหนักมากว่าเข้าหาแกน จะทำให้เกิดความสมดุลขึ้น หรือใช้หน่วยที่มีขนาด
เล็กแต่มีรูปลักษณะที่น่าสนใจถ่วงดุลกับรูปลักษณะที่มีขนาดใหญ่แต่มีรูปแบบธรรมดา
CONTRAST ความแตกต่าง
ความหมายของความแตกต่างในทางทัศนศิลป์์
ความแตกต่างเป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไป เป็นสิ่งปกติในธรรมชาติ เช่น ความสว่างและความมืด ความใหญ่และเล็ก ความหนาและบาง เป็นต้น.
แต่ในทางทัศนศิลป์ ความแตกต่าง หมายถึง ความขัดแย้ง (Opposition) ของ ส่วนประกอบมูลฐานที่อยู่ร่วมกัน (Juxtaposition) เช่น ขนาดใหญ่ / เล็ก, รูปร่างเหลี่ยม / มน, พื้นผิวหยาบ / ละเอียด ,น้ำหนักอ่อน / แก่ ,ทิศทางของเส้นตั้ง / นอน ,สีที่แตกต่างในวงล้อสี เช่น เขียว /แดง , น้ำเงิน / ส้ม เป็นต้น รวมทั้งความแตกต่างระหว่างส่วนประกอบมูลฐาน กับหลักการทัศนศิลป์ เพื่อสร้างให้ผลงานนั้น มีความงามเด่นชัด ช่วยเน้นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในจุดสำคัญของการ ออกแบบ ให้เป็นจุดสน ใจขึ้น ทำให้ งานออกแบบนั้นมองดูไม่น่าเบื่อ ไม่ซ้ำซาก ไม่จำเจทำให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้างานออกแบบนั้น ขาดความแตกต่าง หรือ มีความกลมกลืนกันมากเกินไป ก็จะ ทำให้การออกแบบนั้นน่าเบื่อ ซ้ำซากจืดชืด ไม่น่าสนใจ แต่ก็มีข้อควรระวังในการ สร้างความแตกต่างก็คือ หากในงานทัศนศิลป์นั้น มีความแตกต่างมาก และอยู่อย่าง กระจัดกระจายแล้ว จะเป็นการทำลาย เอกภาพของงานศิลปะนั้น ฉนั้นการสร้างความแตกต่าง ย่อมอยู่ภายใต้ กฎเกณฑ์ของ เอกภาพ (Unity) ด้วย
HARMONY การกลมกลืน
ความหมายของความกลมกลืนในทางทัศนศิลป์์
ความกลมกลืน (Harmony)
โดยทั่วไป หมายถึงการประสานเข้าสนิทกัน กลมกลืน ปรองดอง สามัคคี ลงรอย ในทางทัศนศิลป์ ความกลมกลืน หมายถึง การรวมกันของ หน่วยย่อยต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ส่วนประกอบมูลฐาน ของศิลปะ คือได้แก่ จุด เส้น รูปร่าง รูปทรง สี พื้นผิว น้ำหนัก อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง และการจัดวางองค์ประกอบ เช่นจ้ังหวะ ช่องว่าง
EMPHASIS การเน้นย้ำ
คือการทำให้เกิดจุดเด่นในงานออกแบบที่ดีนั้นจะต้องให้ความสำคัญแก่ส่วนใดส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ
การเน้นจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดความน่าสนใจและเพิ่มความงามและคุณค่าให้แก่
งานออกแบบนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ
1. เน้นจุดเด่นให้เหมาะกับประโยชน์ใช้สอย
2. เน้นให้เกิดความสวยงาม
3. เน้นเพื่อสื่อความหมาย
การเน้นความแตกต่าง (Emphasis by Contrast)
กฏเกณฑ์ทั่วไปคือ จุดสนใจเป็นผลมาจากองค์ประกอบสิ่งหสึ่งสิ่งใดที่มีความแตกต่างออกไป
จากสิ่งอื่นอะไรก็ตามที่มีขัดสายตาเวลามอง สิ่งนั้นเป็นการดึงดูดความสนใจด้วยความแปลก
ของตัวเอง ซึ่งมีทางเป็นไปได้มากมายไม่รู้จบ
การเน้นด้วยการขัดกันนั้นเกิดขึ้นเมื่อองค์ประกอบของภาพที่ขัดกับส่วนอื่นที่นำมาประกอบ
สิ่งนั้นจะกลายเป็นจุดสนใจ สิ่งที่นำมาขัดกันนั้นจะเป็นรูปทรง เส้น สี น้ไหนักความเข้ม พื้นผิว
หรือขนาดก็ย่อมเกิดผลสำเร็จได้
จุดเด่น (Dominance)
หมายถึง จุดๆ หนึ่งที่สะดุดตาน่าสนใจ แปลกตา น่าทึ่ง อาจเกิดจากความขัดแย้งเพียงเล็กน้อย
และน่าสนใจกว่าส่วนที่เหลือขององค์ประกอบ ก่อนที่สายตาจะเคลื่อนไปยังจุดอื่นๆ
(ธิดา ชมภูนิช,2526:45)
การจัดภาพ
ควรประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ
1.จุดเด่น(Dominance) คือส่วนประธาน (Principle) ที่สะดุดตา น่าสนใจ เป็นหลักของภาพ
ที่เป็นจุดสำคัญที่สุดของภาพ ซึ่งโดยมากจะอยู่ในระยะหน้าของภาพ แต่บางครั้งอาจจะ
อยู่ในระยะกลาง
2. ส่วนประกอบรอง (Sub-Ordination) หมายถึง ส่วนประกอบที่มีความน่าสนใจรองลงมา
อาจแบ่งออกเป็น สองส่วนคือ
2.1 จุดเด่นรอง (Sub-Dominance) หมายถึง จุดสนใจที่มีความสำคัญไม่มากนักแต่
มีบทบาทเสริมให้จุดเด่นนั้นสะดุดตามากขึ้น หรือช่วยในการสร้างสมดุล หรือ
บรรยากาศของภาพให้เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยมักอยู่ในระยะกลาง(Middle Ground)
2.2 ส่วนประกอบที่ทำหน้าที่เป็นพื้นหรือฉากหลัง(Back Ground) เป็นส่วนที่ประกอบ
ที่มีความสำคัญน้อยที่สดุ แต่มีความสำคัญมากในการควบคุมบรรยากาศของภาพ
ให้ประสานกลมกลืนกับจุดเด่นและจุดรองทำให้ภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การออกแบบและการสร้างผลงานที่ประสบผลสำเร็จ
มีหลักของการออกแบบเพื่อเน้นให้เกิดจุดเด่นควรคำนึงถึง
1. จุดเด่น คือ ประธาน
2. ส่วนประกอบรอง ได้แก่
2.1 จุดเด่นรอง
2.2 ฉากหลัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น